หลุมสิว คือ แผลเป็นที่เกิดจากสิว ซึ่งแผลเป็น คือแผลที่เกิดขึ้นแล้วไม่หาย
สาเหตุของหลุมสิว
เกิดจากการที่มีสิวอักเสบขนาดใหญ่ พอสิวหาย ผิวหนังบริเวณที่เคยเป็นสิวเกิดการยุบตัว
ปกติร่างกายจะสร้างผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ในกรณีของหลุมสิวคือร่างกายสร้างขึ้นมาทดแทนน้อยเกินไป จึงทำให้มีรอยหลุมนั่นเองค่ะ
สิวขนาดเล็กก็ทำให้ผิวเป็นหลุมได้นะคะ เช่น เราไปบีบ เค้น หรือกดสิว จนทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นสิวเกิดการอักเสบและเป็นแผลค่ะ
ลักษณะของหลุมสิว
Rolling Scar รอยหลุมแบบโค้งและตื้น ฐานหลุมนิ่ม เมื่อดึงผิวให้ตึงจะไม่ค่อยเห็นหลุมสิวค่ะ แบบนี้รักษาง่าย
Boxed Scar รอยหลุมขนาดใหญ่ ขอบและฐานหลุมมีขนาดใกล้เคียงกัน มีรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม ฐานหลุมแข็งจากการมีพังผืด (fibrosis) ลึกถึงชั้นหนังแท้ ดึงผิวให้ตึงแล้วก็ยังพบรอยหลุมสิวอยู่ รักษายากประมาณนึง
Icepicked Scar รอยหลุมขอบกว้าง ฐานแคบและลึก และขอบอาจมีลักษณะยกนูน แบบนี้รักษายากที่สุด
วิธีรักษาหลุมสิว
ทายา
ทายาเห็นผลน้อยที่สุด เหมาะสำหรับหลุมสิวใหม่ ตื้น ๆ และต้องทาติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 เดือน โดยตัวยาจะมีส่วนประกอบของกรดเรติโนอิก หรือ กรดวิตามินเอ ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นแดง ผิวแห้ง และระคายเคืองได้ ถ้ามีอาการระคายเคือง แนะนำให้หยุดใช้ทันทีนะคะ
Fillers
Fillers เป็นการฉีดสารเติมเต็มเข้าไปที่หลุมสิวโดยตรง ใช้ได้กับหลุมสิวที่ไม่มีพังผืดยึดเกาะเท่านั้น ถ้ามีพังผืด fillers จะไปอยู่ที่ผิวปกติรอบหลุมสิวแทน เกิดเป็นรอยตำปุ่มตะป่ำได้ และต้องเติมซ้ำทุก 6-9 เดือน
ตัดพังผืด หรือ Subcision
ซับซิสชั่น (subcision) คือ การตัดพังผืดใต้หลุมสิวด้วยเข็ม ทำให้มีการแยกชั้นของผิวหนังที่พังผืดยึดให้พ้นจากฐานหลุม เกิดเลือดสะสมที่รอยแยก และมีการสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่ ได้ผลดีกับหลุมสิวแบบ rolling และ boxed scar
กรอผิว
กรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี คือ การขัดเซลล์ผิวชั้นบนออก เพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ โดยใช้ผงอัญมณีขนาดเล็ก วิธีนี้ช่วยให้รอยหลุมตื้น ๆ ดีขึ้นเล็กน้อย
ลอกผิว
ลอกผิวด้วยกรดผลไม้ หรือน้ำยาเคมี คือ การใช้น้ำยาเคมีเข้มข้นมาก ๆ ในชั้นหนังกำพร้า เพื่อให้มีการสร้างเซลล์ผิวใหม่ วิธีนี้ผลที่ได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำยาเคมี และความเชี่ยวชาญของคุณหมอ
เลเซอร์
เลเซอร์สามารถกรอปรับสภาพพื้นผิวของแผลหลุมให้เรียบขึ้น และกระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจนใหม่ เพื่อดันก้นหลุมให้ตื้นขึ้น เป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด แบ่งออกเป็น 3 แบบ
- แบบมีแผล (ablative laser refurfacing) ได้ผลมากที่สุด แต่ไม่นิยมทำกันแล้ว เนื่องจากหลังทำจะมีแผลบวมแดง และ 2-3 วันแรก อาจมีน้ำเหลืองไหลซึม ใช้เวลาในการสมานแผล 1-2 สัปดาห์ แถมยังเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เช่น รอยคล้ำ รอยด่างขาว หรือผิวติดเชื้อ
- แบบไม่มีแผล (non-ablative laser refurfacing) ทำงานโดยส่งแสงให้พลังงานความร้อนที่ชั้นหนังแท้ เพื่อกระตุ้นให้ผิวสร้างเส้นใยคอลลาเจนใหม่ ข้อดีคือไม่มีแผล แต่ก็กระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจนได้น้อยกว่าแบบมีแผล
- มีแผลน้อย (fractional laser refurfacing) ใช้พลังงานแสงที่มีพลังงานสูง เจาะผ่านหนังกำพร้าไปยังหนังแท้ ทำให้เกิดรูเล็ก ๆ ขนาด 0.1-0.2 มิลลิเมตร มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็นต่อเนื่องเป็นพันจุดบนพื้นที่ผิว 1 ตารางเซนติเมตร เพื่อให้เกิดความร้อนในชั้นหนังแท้ แล้วความร้อนก็จะกระตุ้นให้หนังแท้สร้างเส้นใยคอลลาเจนขึ้นใหม่ ช่วยดันก้นหลุมให้ตื้นขึ้น สามารถควบคุมด้วยระบบ computer มีความแม่นยำสูงระหว่างทำจะรู้สึกเหมือนมีเข็มร้อนเล็ก ๆ หลายอันทิ่มที่ผิว หลังทำเลเซอร์จะบวมแดง 1-2 วัน หลังจากนั้นจะเป็นสะเก็ดจุดเล็ก ๆ ซึ่งจะหลุดออกภายใน 3-4 วัน ต้องทำ 4-5 ครั้ง ทุก 1-2 เดือน หลังทำเลเซอร์ 1-2 เดือนแรก แผลหลุมสิวจะค่อย ๆ ตื้นขึ้นจนสังเกตได้ และผิวจะค่อย ๆ เรียบขึ้นจนถึง เดือนที่ 6 หลังการรักษา
ในแต่ละคนจะมีหลุมสิวหลายลักษณะ มากน้อยแตกต่างกันไป วิธีรักษาก็จะขึ้นอยู่กับสภาพหลุมสิวของเรา ดีที่สุดคือควรปรึกษาคุณหมอผิวหนังผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาหลุมสิว
แผลเป็นหลุมสิวสามารถหายได้ถึง 80-90% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของหลุมสิว และระยะเวลาที่เราเป็นหลุมสิวด้วยค่ะ
แต่ว่าผิวที่เรียบขึ้นจากการรักษาด้วยเลเซอร์ จะคงสภาพแบบนั้นตลอด ยกเว้นเราจะมีสิวหรือแผลที่ทำให้เกิดหลุมอีก ดังนั้น วิธีที่ง่ายกว่าการรักษา คือการป้องกันไม่ให้เกิดสิวค่ะ
เน้นทำความสะอาด เติมความชุ่มชื้น และทากันแดด ไม่จับผิวบ่อย ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ
หรือถ้ามีสิว ก็อย่าไปบีบ เค้น หรือกด เค้าเลยนะคะ ถ้ามีสิวนิดหน่อย ไม่ได้อักเสบ สิวสามารถหายเองได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นสิวอักเสบ เป็นสิวขนาดใหญ่ เป็นเยอะ หรือเป็นนาน แนะนำให้รีบปรึกษาคุณหมอผิวหนังค่ะ